มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ตอนที่ 1

การทุ่มตลาดคืออะไร? แล้วทำไมต้องมีมาตรการป้องกัน?

เวลาดูข่าวเศรษฐกิจในทีวี บางครั้งเราจะได้ยินคำว่า ราคาเหล็กปรับตัวขึ้นเป็นผลกระทบจากการทุ่มตลาด หรือจากภาษี AD ว่าแต่การทุ่มตลาดหรือภาษี AD คืออะไรล่ะ? วันนี้ 2 เอสจะมาเล่าให้ฟังค่ะ 

ลองนึกภาพว่า ประเทศ A ส่งออกวัตถุดิบเหล็กมาไทยในราคาตันละ 25,000 บาท ทั้งที่ขายในประเทศตัวเอง 30,000 บาท ผู้ผลิตในไทยซึ่งก็ขายที่ตันละ 30,000 บาทเลยเดือดร้อนเพราะของนำเข้าราคาต่ำกว่ามาก การส่งสินค้าออกมาขายอีกประเทศหนึ่ง ด้วยราคาที่ต่ำผิดปกติแบบนี้ เพราะต้องการส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น เรียกว่า “การทุ่มตลาด” (Dumping)

ภาพ: กรมการค้าต่างประเทศ

หากมองในมุมของผู้นำเข้าหรือผู้บริโภคอาจจะรู้สึกว่า ดีสิ! ได้สินค้าเหมือนกันแต่จ่ายถูกกว่า แต่อีกมุมหนึ่งการทุ่มตลาดหรือการ Dump ราคาก็สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศหากสินค้าที่นำเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าที่ควร เพราะถือเป็นการกีดกันทางการค้า ทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศถูกตัดราคาหรือกดราคา เมื่อผู้ผลิตในประเทศทำกำไรไม่ได้หรือขาดทุนนาน ๆ เข้าก็ต้องเลิกกิจการ เมื่อไร้ผู้ผลิตในประเทศมาคานอำนาจแล้ว คราวนี้ถ้าสินค้าจากต่างชาติส่งออกมาในราคาแพง ผู้บริโภคก็ไม่เหลือตัวเลือกอื่นอีก

ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นธรรม องค์การการค้าโลก (WTO) จึงอนุญาตให้ประเทศผู้นำเข้าซึ่งได้รับผลกระทบสามารถเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ภาษี AD” ได้ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ก็มี “มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด” (Anti-Dumping Measures: AD) โดยผู้ผลิตในไทยสามารถยื่นคำขอให้มีการใช้มาตรการกับรายการสินค้าบางประเภทได้ และหากคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) พิจารณาแล้วว่ามีการทุ่มตลาดเกิดขึ้นจริง ก็จะมีการเรียกเก็บภาษี AD ทำให้ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีแพงขึ้นสำหรับการนำเข้าสินค้าดังกล่าว แต่ละมาตรการมีผลใช้แค่ชั่วคราวเท่านั้น และจะถูกทบทวนใหม่ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีเพื่อพิจารณาว่าจะยุติหรือใช้ต่อไป
องค์การการค้าโลก (WTO)
กรมการค้าต่างประเทศ

ในอุตสาหกรรมเหล็กเองก็มีสินค้าเหล็กหลายรายการที่อยู่ใต้กรอบมาตรการ AD กำกับการนำเข้า เช่น สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนจากประเทศจีนและรัสเซียซึ่งกำลังระบายเหล็กออกสู่ตลาดในราคาถูก โดยจีนโดนมาตรการ AD ของไทยมาตั้งแต่มิถุนายน 2560 (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวน) ด้วยข้อกำหนดนี้ หากจะนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวจากจีน ผู้นำเข้าต้องจ่ายภาษี AD ถึงร้อยละ 30.91 ของราคา CIF 

สำหรับกรณีรัสเซีย มาตรการ AD เพิ่งเริ่มต้นใช้ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีรายละเอียด คือ ถ้าสินค้ามาจากบริษัท Novolipetsk Iron & Steel รัฐบาลจะทำการเก็บอากรเพิ่มเติมร้อยละ 24.20 ของราคา CIF ส่วนผู้ผลิตรายอื่น ๆ จะเก็บร้อยละ 35.17 ของราคา CIF

นี่จึงเป็นหนึ่งสาเหตุว่า ทำไมแม้บางช่วงเหล็กจากประเทศ เช่น จีน หรือรัสเซีย จะมีราคาถูก แต่ไทยก็ไม่นำเข้าหรือนำเข้าน้อย เป็นเพราะสินค้าเหล็กบางประเภทอยู่ภายใต้มาตรการ AD นั่นเอง

หมายเหตุ: ราคา CIF (Cost, Insurance, and Freight) หมายถึง ข้อตกลงที่ผู้ขาย/ผู้ส่งออกจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการขนส่งจนกว่าสินค้าจะถึงท่าเรือปลายทาง สั้น ๆ คือ ราคาสินค้ารวมค่าส่งมาไทย

แหล่งข้อมูล: กองปกป้องและตอบโต้ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ
ดูรายละเอียด AD สินค้ารายการอื่น ๆ ได้ที่: https://www.thaitr.go.th/th/measure_info/ad/investigate?orderBy=date_desc 

Scroll to Top