นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
บริษัทฯ ตระหนักดีว่า การที่ธุรกิจจะเจริญเติบโตยั่งยืนได้นั้น ส่วนหนึ่งจะต้องมีสังคมที่ปราศจากการคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาด้านต่างๆ เพราะนอกจากจะลดทอนความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว ยังสร้างความเสียหายแก่สังคมและประเทศชาติโดยรวมด้วย
เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีแนวทางปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการป้องกันที่เหมาะสม และการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชั่นได้มีการพิจารณาที่รอบคอบ คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอนุมัตินโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และจัดทำแนวทางการปฏิบัติขึ้นภายใต้แนวทางของโครงการ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” (Collective Action Coalition) ซึ่งได้เผยแพร่นโยบาย แนวทางปฏิบัติ ระเบียบ และมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นผ่านสื่อทั้งภายนอกและภายใน ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน และยึดเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ
คำนิยาม
คอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ โดยการเสนอให้ สัญญา มอบให้ ให้คำมั่น หรือรับซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสม กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ ผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ
นโยบาย
1.ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อย ดำเนินการเรียกร้อง หรือยอมรับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อองค์กร ตนเอง ครอบครัว เพื่อนและคนรู้จัก หรือเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยครอบคลุมถึงคู่ค้าธุรกิจ ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งในประเทศ และต่างประเทศ
2.ให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
1.นโยบายการรับ การให้ของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใด
การสร้างความสัมพันธ์ในการดำเนินธุรกิจ และแสดงออกถึงไมตรีจิต โดยการให้หรือรับผลประโยชน์ ตามเทศกาล ขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละประเทศ ในรูปแบบของทรัพย์สิน หรืออาจอยู่ในรูปผลประโยชน์อย่างอื่น
ทั้งนี้ บุคลากรของบริษัท รวมถึงผู้เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัท ห้ามเรียกรับ รับ หรือให้ของขวัญ เงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ สิ่งบันเทิง ค่าเดินทาง บริการต้อนรับ หรือประโยชน์อื่นใด เกินความจำเป็นและไม่เหมาะสม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจที่อาจทำให้เกิดอิทธิพลในการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่เป็นธรรม หรือมีเจตนาชักนำให้กระทำหรือละเว้นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หรือเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิพิเศษที่ไม่พึงได้ หรือการกระทำนั้นจะส่งผลกระทบเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท
2.นโยบายค่าเลี้ยงรับรอง และบริการต้อนรับ
การเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ อาทิ การเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม การเลี้ยงรับรองในรูปแบบการกีฬา หรือการเลี้ยงรับรองในรูปแบบงานบันเทิง เช่น การชมละคร คอนเสิร์ต ภาพยนตร์ เพื่อเอื้อความสัมพันธ์ทางธุรกิจของบริษัท หรือเป็นจารีตทางการค้า โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่
ดังนั้น บุคลากรของบริษัท รวมถึงผู้เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัท สามารถเลี้ยงรับรองต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้ตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้
2.1.ไม่จัดเลี้ยงรับรอง หรือเข้าร่วมการเลี้ยงรับรอง ในขณะที่อยู่ในช่วงเวลาของการเสนอซื้อขายสินค้า หรือการประกวดราคา หรือการประมูลงาน เว้นแต่การเลี้ยงรับรองนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นไปตามปกติประเพณีนิยม
2.2.ห้ามการเลี้ยงรับรอง แม้ว่าจะเป็นการเลี้ยงรับรองส่วนตัว เว้นแต่การเลี้ยงรับรองนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย และเป็นไปตามปกติประเพณีนิยม
3.นโยบายการบริจาคเพื่อการกุศลและเงินสนับสนุน
การบริจาคเพื่อการกุศล หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ ในรูปแบบการให้ทรัพย์สิน หรือให้เงินสนับสนุน หรือในรูปแบบกิจกรรมใด เช่น ให้ความรู้ หรือการสละเวลา เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคมส่วนรวม
โดยบุคลากรของบริษัท รวมถึงผู้เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัท สามารถบริจาคเพื่อการกุศลหรือเงินสนับสนุนได้ตามลักษณะดังต่อไปนี้
3.1.ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติของบริษัท รวมถึงหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน โดยสามารถเปิดเผย โปร่งใสและตรวจสอบได้
3.2.สอดคล้องกับนโยบายด้านสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม หรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของบริษัท
3.3.ไม่ใช้เป็นวัตถุประสงค์แอบแฝง เพื่อสร้างความได้เปรียบ หรือสร้างแรงจูงใจในการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ
3.4.มีการจัดทำบันทึกรายการ โดยระบุวัตถุประสงค์ และชื่อบุคคล/หน่วยงานผู้รับบริจาคหรือเงินสนับสนุนอย่างชัดเจนพร้อมแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องในการนำเสนออนุมัติ
4.นโยบายการสนับสนุนทางการเมือง (Political Contribution)
การให้การสนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมือง ทั้งที่เป็นตัวเงิน หรือรูปแบบอื่น เช่นการให้ยืม หรือบริจาคอุปกรณ์ การให้บริการด้านเทคโนโลยี โดยไม่คิดค่าบริการ หรือส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในนามของบริษัท
กลุ่มบริษัทเป็นองค์กรธุรกิจที่เป็นกลางทางการเมือง ไม่มีนโยบายให้การช่วยเหลือ หรือสนับสนุนทางการเมือง หรือกระทำการอันเป็นลักษณะฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆ โดยบุคลากรของบริษัท รวมถึงผู้เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัทสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ในลักษณะดังต่อไปนี้
4.1.บุคลากรของบริษัททุกคน มีสิทธิเสรีภาพในฐานะส่วนตัว ในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่อ้างชื่อบริษัท และต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ เงินทุน เวลา วัสดุ อุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกของบริษัทไปใช้ในการเอื้อประโยชน์หรือสนับสนุนทางการเมืองเป็นการส่วนตัว
4.2.ไม่แต่งกายด้วยเครื่องแบบพนักงานของบริษัท หรือใช้สัญลักษณ์ใดที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง
4.3.พึงหลีกเลี่ยงการแสดงออก แสดงความเห็นทางการเมือง ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าบริษัทมีความเกี่ยวข้อง
5.นโยบายว่าด้วยการจ่ายค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment)
การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก หมายถึง ค่าใช้จ่ายจำนวนเล็กน้อยที่จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือดำเนินการรวดเร็วขึ้นในหน้าที่โดยชอบ ของเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้น รวมทั้ง
สิทธิที่นิติบุคคลพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การต่อใบอนุญาต การขอหนังสือรับรอง หรือการได้รับบริการสาธารณะ เป็นต้น
ห้ามบุคลากรของบริษัทจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวก แก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อชักจูงหรือเร่งรัดให้มีการดำเนินการซึ่งมีหน้าที่ต้องกระทำอยู่แล้ว
6.นโยบายว่าด้วยการจ้างพนักงานรัฐ (Revolving Door)
การจ้างพนักงานรัฐ หมายถึง การที่บุคคลจากภาครัฐเข้าไปทำงานในภาคเอกชน หรือบุคคลในภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้านนโยบายในภาครัฐ ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชั่น ในแง่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของตัวบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ในทั้งสององค์กร
ทั้งนี้ กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลของบุคลากรที่เคยเป็นพนักงานภาครัฐ ตามที่กำหนดไว้ใน พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้ายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 (รวมถึงฉบับแก้ไขปรับปรุงที่อาจมี) มาตรา 126 และมาตรา 127 ซึ่งอาจมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ทับซ้อน หรืออาจมีผลต่อการตัดสินใจ ของตัวบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ในทั้งบริษัทเองหรือองค์กรของรัฐ เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้
7.นโยบายว่าด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หมายถึง การดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้ผลประโยชน์ส่วนตัวขัดกับผลประโยชน์ของบริษัท ซึ่งอาจบั่นทอนประสิทธิภาพ หรือเกิดลักษณะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง /ลำเอียง เพื่อผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ บุคลากรของบริษัทพึงปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ว่าด้วยเรื่องการมีส่วนได้เสีย และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น
ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ
1.คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบายและสนับสนุนมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม และกำกับดูแลฝ่ายบริหารได้นำไปปฏิบัติ จนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
2.คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่และรับผิดชอบดังนี้
-สอบทานระบบควบคุมภายในให้มีความเพียงพอ ตามมาตรการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้มั่นใจว่าระบบดังกล่าวมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโอกาสการทุจริตน้อยที่สุด ซึ่งจะผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินงาน
-สอบทานรายงานการตรวจสอบ และการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ตามที่ฝ่ายตรวจสอบภายในนำเสนอ ต่อคณะกรรมการบริษัทรับทราบการดำเนินการตามมาตรการ
-พิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสร่วมกับคณะกรรมการบริษัท หรือแก้ไขปัญหาการกระทำทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร
3.ฝ่ายตรวจสอบภายในมีหน้าที่ปฎิบัติตามแผนการตรวจสอบภายในที่กำหนดไว้ และเสนอรายงานการตรวจสอบระบบควบคุมภายในเกี่ยวกับการป้องกันการคอร์รัปชั่น ให้คณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบ และรายงานอย่างเร่งด่วนต่อผู้บริหารระดับสูง กรณีพบประเด็นสำคัญอันส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
4.ฝ่ายบริหารมีหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้
-จัดให้มีการดำเนินการตามมาตรการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบ รวมถึงทบทวนกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ หลักเกณฑ์ ข้อบังคับ และข้อกฎหมาย
-จัดการสื่อสารกับบุคคลากรในองค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้ทราบถึงนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
-พิจารณากำหนดบุคลากรในการร่วมกัน กำกับดูแลให้พนักงานขององค์กรมีการปฏิบัติตามนโยบาย และมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น
-ส่งเสริมให้ผู้บริหารแต่ละหน่วยงานมีหน้ารณรงค์ สนับสนุน ให้ความรู้ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับ ตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
มาตรการและแนวทางปฏิบัติ
บริษัทกำหนดให้นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคลากรทุกคนของบริษัทและบริษัทย่อย โดย
1.ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ ที่บริษัทมอบหมาย เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเอื้อประโยชน์แก่ครอบครัว พวกพ้อง หรือบุคคลใกล้ชิด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
2.พึงระวัง และหลีกเลี่ยง การรับสิ่งของหรือรับผลประโยชน์อื่นใดอันไม่ชอบธรรมจากผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทตามที่กำหนดไว้
3.ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท มีหน้าที่ชี้แจงและขอความร่วมมือในการดำเนินการตามประกาศ นโยบายไม่รับของขวัญให้ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท ทราบเป็นระยะ เช่น ช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ
4.ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพอเห็นการกระทำที่เข้าข่ายทุจริต หรือคอร์รัปชั่นอันเกี่ยวข้องกับบริษัท และแจ้งต่อผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ โดยสามารถแจ้งผ่านช่องทาง “การแจ้งเบาะแส (Whistle Blower Channel)
5.สื่อสารนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนภายในบริษัทฯ ผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น การอบรมปฐมนิเทศกรรมการและพนักงาน, ติดประกาศตามป้ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทและบริษัทย่อยและ Intranet เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรมีทักษะเพียงพอต่อการปฏิบัติ
6.สื่อสารนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่น รวมถึงช่องทางการแจ้งเบาะแส (Whistle Blower Channel) ไปยังสาธารณชน บริษัทย่อย บริษัทร่วม นิติบุคคลอื่นที่บริษัทมีอำนาจควบคุม ตัวแทนทางธุรกิจ คู่ค้าทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ของบริษัท รายงานประจำปี และหนังสือเวียนบอกกล่าว เป็นต้น
7.บริษัทต้องให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธคอร์รัปชั่น หรือแจ้งเบาะแสที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธ แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
8.การบริหารงานบุคคล จะต้องมีกระบวนการที่ไม่ขัดต่อนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ตั้งแต่การสรรหา การพิจารณาคัดเลือก การเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงาน
9.กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงาน กับพนักงานที่อยู่ในความรับผิดชอบและต้องควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
10.การดำเนินการใดๆ ตามแนวทางปฏิบัติของนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ให้สอดคล้องกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ รวมถึงคู่มือระเบียบปฏิบัติของบริษัทที่เกี่ยวข้อง
ข้อกำหนดในการดำเนินการ
บุคลากรของบริษัทและบริษัทย่อยพึงปฏิบัติอย่างระมัดระวังต่อรูปแบบการคอร์รัปชั่นดังนี้
* การรับ การให้ของขวัญ ของกำนัล สินน้ำใจ และผลประโยชน์อื่นใด
การแลกเปลี่ยนไมตรีทางการค้าในบางโอกาส เช่น การให้ของกำนัล ของขวัญ สินน้ำใจ ถือเป็นเรื่องปกติที่แสดงออกถึงไมตรีจิต และสร้างความสัมพันธ์ในการทำธุรกิจร่วมกัน อย่างไรก็ตาม พึงระวังการกระทำเหล่านี้อันอาจมีผลต่อเจตนารมย์ และการตัดสินใจ หรือแลกเปลี่ยนกับสิทธิพิเศษที่ไม่พึงได้ ซึ่งการรับ การให้ของขวัญ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ สามารถกระทำให้ในลักษณะดังต่อไปนี้
1.ดำเนินการอย่างถูกต้อง เปิดเผย ไม่ขัดต่อหลักศีลธรรม เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติของบริษัท รวมถึงหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ เทศกาล และขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละท้องถิ่น
3.ไม่ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการทุจริตคอร์รัปชั่น
4.ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของบริษัท
5.มูลค่าการรับ การให้ของขวัญ บริการต้อนรับ หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่เกิน 3,000 บาท ต่อหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐต่อครั้ง
6.จัดทำ “แบบรายงานการรับของขวัญ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด” และรายงานต่อผู้บังคับบัญชา โดยปฏิบัติตามระเบียบกระบวนการขออนุมัติของบริษัท
* ค่าเลี้ยงรับรอง และบริการต้อนรับ
1.การใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติทางธุรกิจ หรือจารีตทางการค้า สามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นการใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล ไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติงาน หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
2.ในการดำเนินการรับรอง ให้พนักงานผู้ทำการรับรองเสนอขออนุมัติเงินค่ารับรองจากผู้มีอำนาจตามอำนาจอนุมัติ โดยต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็น รายชื่อและตำแหน่งของบุคคล หรือคณะบุคคล หรือหน่วยงานสังกัด
3.มูลค่าการรับรอง ควรเป็นไปในลักษณะต่างตอบแทนและพอประมาณ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผูกมัดที่อาจเกิดขึ้น
* การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ
การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบของบริษัท
* การให้ความสนับสนุน และความช่วยเหลือทางการเมือง
บริษัทไม่มีนโยบายช่วยเหลือ สนับสนุนพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือนักการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
* การบริจาค การรับบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณะประโยชน์ และการให้หรือรับเงินสนับสนุน
1.ดำเนินการอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงไม่เป็นการกระทำอันมีผลเสียต่อสังคมส่วนรวม
2.ต้องไม่เกี่ยวข้องหรือถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน หรือส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติงาน
3.เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติตามขั้นตอนอนุมัติของบริษัท รวมถึงหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4.มูลค่าของบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณะประโยชน์ และการให้หรือรับเงินสนับสนุน เป็นไปตามวงเงินอนุมัติ
5.กำหนดให้มีการติดตามโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และกำหนดให้มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาค หรือการสนับสนุนได้ถูกนำไปเพื่อใช้ประโยชน์ของสาธารณะ สังคม ตรงตามวัตถุประสงค์การบริจาคอย่างแท้จริง
* ค่าอำนวยความสะดวก
บริษัท ไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกในรูปแบบใดๆ ต่อหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ดำเนินการใดๆ หรือยอมรับการกระทำใดๆ เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ
* การว่าจ้างพนักงานรัฐ / เจ้าหน้าที่รัฐ (Revolving Door)
1.บริษัทไม่ว่าจ้างหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยังดำรงตำแหน่งในภาครัฐ เข้ามาทำงานในตำแหน่งที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวเนื่องกัน หรือสุ่มเสียงในการมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
2.บุคคลผู้เคยทำงานกับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องว่างเว้นการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี (cooling-off period) ก่อนสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานของบริษัท
3.กระบวนการคัดเลือก การว่าจ้าง การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน ให้เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลที่บริษัทมีกำหนดไว้
4.ระบุข้อห้ามในการทำหน้าที่และวิธิปฏิบัติ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบ หรือประเด็นที่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง เช่นการเปิดเผยความลับของหน่วยงานของรัฐที่ตนเคยสังกัด การ lobby เพื่อได้รับประโยชน์ในทางมิชอบ การถูกมอบหมายให้ติดต่อหน่วยงานเดิมที่ตนเคยสังกัด เป็นต้น
5.เปิดเผยข้อมูลรายนามและประวัติของบุคคลที่เคยเป็นอดีตเจ้าหน้าของรัฐในเอกสารเผยแพร่ของบริษัท
6.ในกรณีบุคลากรของบริษัทเข้าไปทำงานด้านนโยบายของภาครัฐ อาจเกิดความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงควรยึดแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายของบริษัท และเผยแพร่ในเอกสารของบริษัท เพื่อให้เกิดความโปร่งใ
การประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายใน
1. ประเมินความเสี่ยง และทบทวนปัจจัยอันอาจเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยกำหนดเกณฑ์การวัดความเสี่ยงในด้านผลกระทบ และโอกาสที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นประจำทุกปี
2. จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ ประเมินระบบควบคุมภายในที่ครอบคลุมระบบงานสำคัญต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดทำสัญญา การจัดทำและควบคุมงบประมาณ รวมถึงระบบการบันทึกบัญชี การจ่าย/รับชำระเงิน เป็นต้น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม
3. ประเมินระบบควบคุมภายในที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจัดหามาตรการเพื่อลดความเสี่ยงลงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ หากมาตรการควบคุมภายในที่ดำเนินอยู่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันความเสี่ยงการทุจริต
4. กำหนดแผนการตรวจสอบภายในประจำปี และนำเสนอรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทตามลำดับ
5. มีกระบวนการบันทึกและเก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญอย่างถูกต้องครบถ้วน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ
6. แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการบันทึกและเก็บรักษาข้อมูลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
การพิจารณาโทษกรณีฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคลากรทุกคนของบริษัทและบริษัทย่อย พึงรับทราบและทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามประมวลคุณธรรมและข้อพึงปฏิบัติในการทำงานอย่างเคร่งครัด หากกระทำผิด ฝ่าฝืน ละเลย ละเว้น หรือเจตนากระทำการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับการพิจารณาโทษและถูกลงโทษทางวินัย ซึ่งหากเป็นความผิดร้ายแรง อาจถูกพิจารณาเลิกจ้าง ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท หรือตามระเบียบประกาศที่บริษัทได้กำหนดไว้ นอกจากนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย บริษัท จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกประการหนึ่งด้วย