หลักการกำกับดูแลกิจการ

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

บริษัทจัดให้มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทเป็นลายลักษณ์อักษร โดยคณะกรรมการบริษัทได้ทบทวนร่วมกับฝ่ายบริหาร และกำหนดนโยบายตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Corporate Governance Code (CG Code) ฉบับใหม่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เริ่มใช้กันในปี 2560 เพื่อสร้างคุณค่าการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งเน้นการกำกับดูแลกิจการผนวกกับสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยนำหลักปฎิบัติ CG Code ทั้ง 8 ข้อมาเป็นแนวทางในการปรับใช้ตามบริบททางธุรกิจของบริษัท การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาสนับสนุนกลยุทธ์ของธุรกิจ ครอบคลุมตามปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงรอบด้าน โดยคำนึงถึง “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ทั้งด้านผลกระทบและความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่สำคัญ

หลักปฏิบัติ 1 ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
ในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน
Establish Clear Leadership Role and Responsibilities of the Board

หลักปฏิบัติ 1.1
คณะกรรมการเข้าใจบทบาทและตระหนักถึงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำที่ต้องกำกับดูแลให้องค์กรมีการบริหารจัดการที่ดี   ซึ่งครอบคลุมถึง การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย กำหนดกลยุทธ์ นโยบายการดำเนินงาน และการจัดสรรทรัพยากรสำคัญ ตลอดจนการติดตามประเมินผลและการรายงานผลการดำเนินงาน   เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

หลักปฏิบัติ 1.2
การกำกับดูแลกิจการให้นำไปสู่ผล (governance outcome) อันเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืนอย่างน้อยดังนี้
(1) สามารถแข่งขันได้และมีผลประกอบการที่ดีโดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว (competitiveness and performance with long-term perspective)
(2) ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อ ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย (ethical and responsible business)
(3) เป็นประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม (good corporate citizenship)
(4) สามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง (corporate resilience)

หลักปฏิบัติ 1.3
คณะกรรมการมีหน้าที่ดูแลให้กรรมการทุกคนและผู้บริหาร ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง (duty of care) และซื่อสัตย์สุจริตต่อองค์กร (duty of loyalty) รวมถึงดูแลให้บริษัทมีระบบหรือกลไกอย่างเพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่า การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตาม ตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนนโยบายหรือแนวทางที่ได้กำหนดไว้

หลักปฏิบัติ 1.4
คณะกรรมการมีการกำหนดขอบเขตการมอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบให้ประธานกรรมการบริหารและฝ่ายจัดการอย่างชัดเจน ตลอดจนติดตามดูแลการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ ขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมการ กับ ประธานกรรมการบริหารและฝ่ายจัดการ อาจพิจารณาแบ่งออกเป็นดังนี้
a) เรื่องที่ควรดูแลให้มีการดำเนินการ กล่าวคือ เรื่องที่คณะกรรมการเป็น ผู้รับผิดชอบหลักให้มีการดำเนินการอย่างเหมาะสม
b) เรื่องที่ดำเนินการร่วมกับฝ่ายจัดการ กล่าวคือ เรื่องที่คณะกรรมการ ประธานกรรมการบริหารและฝ่ายจัดการควรพิจารณาร่วมกัน โดยฝ่ายจัดการเสนอให้คณะกรรมการเห็นชอบ
c) เรื่องที่คณะกรรมการไม่ควรดำเนินการ กล่าวคือ เรื่องที่คณะกรรมการควรกำกับดูแลระดับนโยบาย โดยมอบหมายให้ประธานกรรมการบริหารและฝ่ายจัดการเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ

หลักปฏิบัติ 2 กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน
Define Objectives that Promote Sustainable Value Creation

หลักปฏิบัติ 2.1
กำหนดหรือดูแลให้วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ (objectives) ที่สอดคล้องกับการสร้างคุณค่าให้ทั้งกิจการ ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคมโดยรวม ที่สามารถใช้เป็นแนวคิดหลักในการกำหนดรูปแบบธุรกิจ (business model) และสื่อสารให้ทุกคนในองค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

หลักปฏิบัติ 2.2
กำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจว่า วัตถุประสงค์และเป้าหมาย ตลอดจนกลยุทธ์ระยะปานกลางและ/ หรือประจำ ปีของกิจการสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย ดังนี้
(1) กำกับดูแลให้มีการจัดทำกลยุทธ์ และแผนงานประจำปีสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมของกิจการ ณ ขณะนั้น ตลอดจนโอกาสและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และมีการทบทวนเพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์และแผนงานประจำปีได้คำนึงถึงผลกระทบในระยะเวลาที่ยาวขึ้น และยังพอจะคาดการณ์ได้ตามสมควร
(2) มีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ปัจจัยและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตลอดสาย (value chain)
(3) การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย โดยยังคงอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
(4) เป้าหมายที่กำหนดมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและศักยภาพของกิจการ โดยกำหนดเป้าหมายทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน นอกจากนี้ ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การประพฤติที่ผิดกฎหมาย หรือขาดจริยธรรม

หลักปฏิบัติ 3 เสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล
Strengthen Board Effectiveness

หลักปฏิบัติ 3.1 
คณะกรรมการมีความรับผิดชอบในการกำหนดและทบทวนโครงสร้างคณะกรรมการ ทั้งในเรื่องขนาด องค์ประกอบ สัดส่วนกรรมการที่เป็นอิสระที่สมดุลและจำเป็นในการร่วมนำพาองค์กรสู่วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักที่กำหนดไว้

หลักปฏิบัติ 3.2 
การคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นประธานกรรมการ และดูแลให้มั่นใจว่า องค์ประกอบและการดำเนินงานของคณะกรรมการเอื้อต่อการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจอย่างมีอิสระ
คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของประธานกรรมการ การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อพิจารณาประเด็นเฉพาะเรื่อง กลั่นกรองข้อมูล ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทเห็นชอบต่อไป ตลอดจนดูแลให้มีการเปิดเผยรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดย่อยทุกชุดในรายงานประจำปีของบริษัท

หลักปฏิบัติ 3.3 
การกำกับดูแลให้มีกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการเป็นไปอย่างโปร่งใสและชัดเจน เพื่อให้ได้คณะกรรมการที่มีคุณสมบัติ มีความรู้หลากหลายด้าน อันจะช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่เป็นประยชน์ต่อบริษัท และสอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่กำหนดไว้

หลักปฏิบัติ 3.4 
คณะกรรมการจะพิจารณาโครงสร้างและอัตราค่าตอบแทนมีความเหมาะสมกับความรับผิดชอบของคณะกรรมการ อันเป็นแรงจูงใจเพียงพอในการรักษาบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ ในการนำพาองค์กรให้ดำเนินงานตามเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นผู้อนุมัติโครงสร้างและอัตราค่าตอบแทนกรรมการ ทั้งรูปแบบอัตราคงที่ (เช่น เงินเดือน เบี้ยประชุม) และรูปแบบค่าตอบแทนตามผลการดำเนินงานของบริษัท (เช่น โบนัส บำเหน็จ) ให้มีความสัมพันธ์กับมูลค่าที่บริษัทสร้างให้กับผู้ถือหุ้น โดยเปิดเผยหลักเกณฑ์และข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท

หลักปฏิบัติ 3.5 
กำกับดูแลให้กรรมการทุกคนมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่และจัดสรรเวลาอย่างเพียงพอ โดยมีการกำหนดตารางการประชุมไว้ล่วงหน้าตลอดทั้งปี เพื่อให้มั่นใจว่ากรรมการสามารถจัดสรรเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเพียงพอ

หลักปฏิบัติ 3.6 
กำกับดูแลให้มีกรอบและกลไกในการกำกับดูแลนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทย่อย และกิจการอื่นที่บริษัทไปลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ในระดับที่เหมาะสมกับกิจการแต่และแห่ง รวมทั้งบริษัทย่อยและกิจการอื่นที่บริษัทไปลงทุนมีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน

หลักปฏิบัติ 3.7 
จัดให้การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปีของคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย และกรรมการรายบุคคล ด้วยวิธีประเมินตนเอง (Self-Evaluation) เพื่อให้คณะกรรมการร่วมกันพิจารณาผลงานและปัญหา โดยผลประเมินได้ถูกนำไปใช้สำหรับการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป มีการเสนอแนะประเด็นในการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการอย่างน้อยทุกๆ 3 ปี

หลักปฏิบัติ 3.8
กำกับดูแลให้คณะกรรมการและกรรมการแต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ลักษณะการประกอบธุรกิจ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนให้กรรมการทุกคนได้รับการเสริมสร้างทักษะและความรู้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่กรรมการอย่างสม่ำเสมอ

หลักปฏิบัติ 3.9 
กำกับดูแลให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น พร้อมทั้งกำหนดให้มีการประชุมกันเองระหว่างกรรมการอิสระด้วยกัน เพื่ออภิปรายข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับการจัดการอย่างเป็นอิสระ ตลอดจนกำหนดคุณสมบัติเลขานุการบริษัทที่มีความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็น และเหมาะสมต่อการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะ

หลักปฏิบัติ 4 สรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารบุคลากร
Ensure Effective CEO and People Management

หลักปฏิบัติ 4.1
การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคลลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและผู้บริหารระดับสูง พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการอบรมและการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ตลอดจน กำกับดูแลให้มีแผนสืบทอดตำแหน่ง (succession plan) เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

หลักปฏิบัติ 4.2
คณะกรรมการการกำกับดูแล ให้มีการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนที่เป็นเครื่องจูงใจให้ประธานกรรมการบริหารและ ผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร และผลประโยชน์ของกิจการในระยะยาว ซึ่งรวมถึง การพิจารณาความเหมาะสมของสัดส่วนค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือน ผลการดำเนินงานระยะสั้น เช่น โบนัส ผลการดำเนินงานระยะยาว เช่น Employee stock ownership plan ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงระดับค่าตอบแทนในอุตสาหกรรมโดยประมาณ

หลักปฏิบัติ 4.3
กำกับดูแลโครงสร้างและความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของข้อตกลงภายในกิจการครอบครัว หรือนโยบายของกลุ่มบริษัทแม่ ที่อาจมีผลต่ออำนาจในการควบคุมการบริหารและการดำเนินงานของกิจการ

หลักปฏิบัติ 4.4
การติดตามดูแล การบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กร การพัฒนาบุคลากรให้มีจำนวน ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อรักษาบุคลากรที่มีความสามารถขององค์กรไว้

หลักปฏิบัติ 5 ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
Nurture Innovation and Responsible Business

หลักปฏิบัติ 5.1
คณะกรรมการให้ความสำคัญและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่ธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างคุณประโยชน์ต่อลูกค้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามสภาพปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

หลักปฏิบัติ 5.2
การติดตามดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและสะท้อนอยู่ในแผนดำเนินการ (operational plan) และแผนกลยุทธ์ (strategies) ของกิจการ ที่ทำให้มั่นใจว่า กิจการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม

หลักปฏิบัติ 5.3
ตระหนักถึงการจัดสรรและการจัดการทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งรูปแบบธุรกิจ (business model) ที่ต่างกัน ย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรที่ต่างกัน เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ กำกับดูแลให้มั่นใจว่า ฝ่ายจัดการมีการทบทวน การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึง ผลกระทบ และความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากร ทั้ง 6 ประเภท อันได้แก่ การเงิน, การผลิต, ภูมิปัญญา, บุคลากร, สังคมและความสัมพันธ์ และด้านธรรมชาติ เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในและภายนอก โดยยังคงอยู่บนพื้นฐานของการมีจริยธรรม มีความรับผิดชอบ และสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน

หลักปฏิบัติ 5.4
คณะกรรมการจัดให้มีกรอบการกำกับดูแลและการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศระดับองค์กร ที่สอดคล้องกับความต้องการของกิจการ รวมทั้งดูแลให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและพัฒนาการดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และปัจจัยความสำคัญของแผนงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่นความเหมาะสมสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ ผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ งบประมาณและทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

หลักปฏิบัติ 6 ระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม
Strengthen Effective Risk Management and Internal Control

หลักปฏิบัติ 6.1
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก กลยุทธ์ และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของกิจการ มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน ติดตามและประเมินผลประสิทธิภาพของการบริหารความเสี่ยง ดูแลให้มีการทบทวนนโยบายความเสี่ยงเป็นประจำ

หลักปฏิบัติ 6.2 
คณะกรรมการได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นอิสระ อันเป็นคุณสมบัติและหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงดูแลให้บริษัทจัดให้มีกลไกหรือเครื่องมือที่จะทำให้คณะกรรมการตรวจสอบสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบสามารถให้ความเห็นถึงความเพียงพอของระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน

หลักปฏิบัติ 6.3
คณะกรรมการติดตามดูแลและจัดการความขัดแย้งของผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างบริษัทกับฝ่ายจัดการ คณะกรรมการ หรือผู้ถือหุ้น รวมไปถึงการป้องกันการใช้ประโยชน์อันมิควรในทรัพย์สิน ข้อมูลและโอกาสของบริษัท และการทำธุรกรรมกับผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับบริษัทในลักษณะที่ไม่สมควร

หลักปฏิบัติ 6.4 
การกำกับดูแลให้มีการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน และสื่อสารถึงบุคลากรในทุกระดับขององค์กรและต่อบุคลภายนอก เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติได้จริง รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมการส่งเสริมและปลูกฝังให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

หลักปฏิบัติ 6.5 
จัดให้กิจการมีกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการกรณีมีการชี้เบาะแส มีนโนบายและแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนในกรณีที่มีการชี้เบาะแส โดยกำหนดช่องการแข้งเบาะแสผ่านทาง website ของบริษัท หรือผ่านกรรมการตรวจสอบของบริษัท ตลอดจนดูแลให้มีมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมแก่ผู้แจ้งเบาะแส

หลักปฏิบัติ 7 รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล
Ensure Disclosure and Financial Integrity

หลักปฏิบัติ 7.1  
คณะกรรมการมีความรับผิดชอบในการดูแลให้ระบบการจัดทำรายงานทางการเงิน และการเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่างๆ ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย
(1) การดูแลให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและเปิดเผยข้อมูล มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ และมีจำนวนเพียงพอ
(2) การรายงานทางการเงิน มีการคำนึงถึง ผลการประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายใน ความเห็นของผู้สอบบัญชีในรายงานทางการเงิน และข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับระบบควบคุมภายใน และความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบ
(3) การจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) เพื่อประกอบการเปิดเผยงบการเงินทุกไตรมาส
(4) ในกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ กรรมการรายนั้นจะดูแลให้การเปิดเผยข้อมูลในส่วนของตน มีความถูกต้อง ครบถ้วน

หลักปฏิบัติ 7.2
การติดตามดูแลเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ โดยคณะกรรมการและฝ่ายจัดการจะร่วมกันประเมินสถานะ และพิจารณาแนวทางแก้ไข หากเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาสภาพคล่อง

หลักปฏิบัติ 7.3  
กำกับดูแลให้กิจการมีแผนในการแก้ไขปัญหา หรือมีกลไกอื่นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินได้ ในภาวะที่กิจการประสบปัญหา หรือมีสัญญาณบ่งชี้ เช่น ภาวะขาดทุนต่อเนื่อง กระแสเงินสดต่ำ มีปัญหาในการระบายสินค้าคงคลังและการเก็บหนี้ เป็นต้น

หลักปฏิบัติ 7.4  
การจัดทำรายงานความยั่งยื่น และการเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติตามกฎหมาย การปฏิบัติตามจรรยาบรรณ นโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น รวมถึงรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงกรอบการรายงานที่ได้รับการยอมรับในประเทศ หรือในระดับสากล

หลักปฏิบัติ 7.5 
กำกับดูแลให้มีหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบงานนักลงทุนสัมพันธ์ทำหน้าที่ในการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เท่าเทียมกัน และทันเวลา โดยมีการจัดทำนโยบายการสื่อสาร และนโยบายการเปิดเผยข้อมูล

หลักปฏิบัติ 7.6 
ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูล นอกจากการเผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ยังมี website ของบริษัท ในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สื่อสารและเปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลภายนอก เช่น ลักษณะการประกอบธุรกิจ, รายชื่อคณะกรรมการและผู้บริหาร รายงานทางการเงินทั้งฉบับปัจจุบันและปีก่อนหน้า, โครงสร้างการถือหุ้น เป็นต้น

หลักปฏิบัติ 8 สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น
Ensure Engagement and Communication with Shareholders

หลักปฏิบัติ 8.1 
คณะกรรมการให้สิทธิผู้ถือหุ้นในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัท ทั้งสิทธิพื้นฐานของผู้ถือหุ้น และการพิจารณาประเด็นที่อาจมีผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินงานของกิจการ ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการนำเสนอวาระการประชุมล่วงหน้า และเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ

หลักปฏิบัติ 8.2 
คณะกรรมการดูแลให้การดำเนินการวันประชุมผู้ถือหุ้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เอื้อให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิของตน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุม เพื่อให้การดำเนินการประชุมเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง ตลอดจน กรรมการทุกคนและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถซักถามในประเด็นต่างๆ ได้

หลักปฏิบัติ 8.3 
การเปิดเผยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น หลังการเสร็จสิ้นการประชุมอย่างถูกต้องภายในวันประชุม และมีการจัดทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วนเพื่อแจ้งต่อผู้ถือหุ้น และนำส่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบภายใน 14 วันนับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น

Scroll to Top