จรรยาบรรณธุรกิจ
บริษัทจัดทำข้อพึงปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับจรรยาบรรณของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร และผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่างๆ เพื่อให้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความเป็นธรรม ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะสื่อสารให้กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกคนรับทราบและถือปฏิบัติ ซึ่งบริษัทเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับข้อพึงปฏิบัติที่ดีเหล่านี้จะสามารถยกมาตรฐานการกำกับดูแลให้สูงขึ้น อีกทั้งส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนในการจัดการของบริษัท สร้างความยุติธรรมและความน่าเชื่อถือของตลาดทุน
1. การเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ
1.1 พึงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายต่างๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติงาน
1.2 พึงรับรู้และเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบของตน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยให้ขอคำปรึกษา ห้ามปฏิบัติไปตามความเข้าใจของตนเอง
1.3 กรณีที่ต้องไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ควรศึกษา ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของประเทศนั้นๆ ตลอดจนเคารพ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม เพื่อให้การปฏิบัติงานไม่ขัดกับกฎหมาย ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ
2. การเคารพสิทธิมนุษยชน
2.1 สนับสนุนและเคารพในสิทธิมนุษยชน ดูแลไม่ให้ธุรกิจของบริษัทเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง กับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การบีบบังคับให้ใช้แรงงาน การใช้แรงงานเด็ก การข่มเหงมนุษย์ในรูปแบบอื่น เป็นต้น
2.2 ให้ความเคารพและปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกถิ่นกำเนิน เชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ ความทุพพลภาพ หรือการลาที่คุ้มครองโดยกฎหมาย
2.3 ส่งเสริมให้มีการเฝ้าระวัง การปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชนภายในบริษัท บริษัทย่อย คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
3. การมีส่วนได้ส่วนเสีย และความขัดแย้งทางผลประโยชน์
3.1 หลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเอง หรือบุคคล/นิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท เว้นแต่จะมีการเปิดเผยส่วนได้ส่วนเสียแล้ว และได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะ หรือได้รับอนุมัติในหลักการให้ทำได้
3.2 ไม่ประกอบธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัท ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจใดๆ ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน งานนั้นต้องอยู่ในลักษณะดังต่อไปนี้
– ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท หรือไม่เป็นธุรกิจอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของกลุ่มบริษัท
– ไม่มีผลเสียถึงชื่อเสียง หรือกิจการของบริษัท
– ไม่เป็นการกระเทือนต่องานในหน้าที่รับผิดชอบของตน
3.3 คณะกรรมการและผู้บริหารต้องพิจารณาความขัดแย้งของผลประโยชน์เกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท และบริษัทย่อยอย่างรอบคอบ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีเหตุผลและเป็นอิสระ และมีข้อตกลงทางการค้าที่วิญญูชนจะพึงกระทำกับคู่ค้าทั่วไปกับบริษัท หรือบริษัทย่อย
3.4 ผู้มีส่วนได้เสียจะต้องไม่มีส่วนในการพิจารณารายการที่ตนมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
3.5 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องรายงานเปิดเผยรายการที่สงสัยว่าตนเองหรือผู้เกี่ยวข้องกับตน มีผลประโยชน์ที่ขัดกันกับบริษัท โดยแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาและนำส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการ
4. ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
4.1 ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น
– ปฏิบัติตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างเคร่งครัด
– ดูแลและคุ้มครองให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน
– มุ่งมั่นในการสร้างความเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมั่นคง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่ยั่งยืนจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และผลประกอบการที่ดีของบริษัท
– ไม่ดำเนินการในเรื่องที่มีนัยสำคัญ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการบริษัทหรือฝ่ายจัดการ
– รายงาน เปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา
4.2 การปฏิบัติต่อลูกค้า
– ส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
– ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใด ข้อหนึ่งต้องรีบแจ้งให้คู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้ทราบล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข
– เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ลูกค้าทราบอย่างครบถ้วนเพียงพอ โดยไม่ปกปิด บิดเบือนเนื้อหาให้ข้อมูลเป็นเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อมูลที่สื่อสารออกไป รวมถึงจัดช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้ลูกค้าสามารถแสดงความเห็นหรือร้องเรียน
– ในการเจรจาต่อรองธุรกิจ พึงละเว้นการเรียก รับ หรือจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตให้กับลูกค้า, คู่ค้า, เจ้าหนี้
– รักษาความลับของลูกค้าอย่างจริงจัง รวมถึงไม่นำข้อมูลมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
4.3 การปฏิบัติต่อคู่ค้า/คู่สัญญา/เจ้าหนี้
– มีหลักเกณฑ์ในการประเมินและคัดเลือกคู่ค้า /คู่สัญญา /เจ้าหนี้ ให้ข้อมูลและรายละเอียดเงื่อนไขต่างที่เหมือนกันแก่คู่ค้าทุก ไม่เลือกปฏิบัติ และจัดทำรูปแบบสัญญาอย่างโปร่งใส เป็นธรรมต่อคู่ค้าทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน
– จัดให้มีระบบการจัดการและติดตามเพื่อให้มั่นใจว่า มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงของสัญญาอย่างครบถ้วนและป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดหา
– จ่ายเงินให้คู่ค้า /คู่สัญญา /เจ้าหนี้ ตรงเวลาตามเงื่อนไขการชำระเงินที่ตกลงกัน กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขใดได้ ต้องรีบเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
– บริษัทมุ่งหมายที่จะพัฒนาและรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับคู่ค้า /คู่สัญญา /เจ้าหนี้ ที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในเรื่องคุณภาพของสินค้าและบริการที่คู่ควรกับมูลค่าเงิน คุณภาพทางด้านเทคนิคและมีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน
– ห้ามมิให้มีการเรียกร้องผลประโยชน์ใดๆ เป็นส่วนตัวจากคู่ค้า /คู่สัญญา /เจ้าหนี้
4.4 การปฏิบัติต่อพนักงาน
– ปฎิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน และหลักการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามสากล ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ เพศ อายุ ศาสนา ความพิการ สถานศึกษา หรือสถานะอื่นใดที่มิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติงาน รวมถึงเคารพต่อความเป็นปัจเจกชน และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
– จัดให้มีกระบวนการพิจารณาสรรหา การว่าจ้าง การแต่งตั้ง/โยกย้าย ตลอดจนการให้รางวัล การเลิกจ้าง และการลงโทษ เป็นไปโดยความสุจริต เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม และการกระทำหรือการปฏิบัติของพนักงานนั้นๆ
– ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่พนักงาน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ตามความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ และผลการปฏิบัติงานของพนักงาน โดยสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัท และเทียบเคียงได้กับบริษัทอื่นในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
– ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรม และพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพิ่มศักยภาพบุคลากรทุกระดับอย่างต่อเนื่อง และเสมอภาค มีโอกาสเท่าเทียมกันในการพัฒนาทักษะและความสามารถของตน โดยเฉพาะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่
– ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ
– สนับสนุนและให้ความร่วมมือ ระหว่างบริษัทกับพนักงาน ในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในการทำงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน
– เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของพนักงานทุกระดับอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค โดยมีช่องทางให้พนักงานสามารถแจ้งเรื่องที่ส่อไปในทางที่ผิด ตามข้อบังคับการทำงาน ระเบียบ นโยบาย หรือประกาศและกฏหมายได้
4.5 การปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า
– ประพฤติปฎิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี
– ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งขันทางการค้าด้วยการกล่าวให้ร้าย โดยปราศจากความจริง
– ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้า ด้วยวิธีการอันไม่สุจริต /ไม่เหมาะสม
4.6 การปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน
– บริษัทมีนโยบายที่จะประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และจะปฏิบัติให้ได้ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อบังคับขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น
– ส่งเสริมให้พนักงานมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
– ส่งเสริมและมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนตามหลักการพัฒนายั่งยืน กรณีไม่มีกฎหมายข้อบังคับใช้ บริษัทจะปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติ ให้มีประโยชน์สูงสุด และเกิดผลกระทบต่อความเสียหายน้อยที่สุด
– ประชาสัมพันธ์กับชุมชนในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับหน่วยงานอื่นเพื่อให้มีการรักษาสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
– ส่งเสริมการสร้างงาน พัฒนาทักษะแรงงาน ตลอดจนอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมของชุมชน
– พัฒนาและปรับปรุงการบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์ทรัพยากร และการกำจัดของเสียหรือวัตถุอันตรายอย่างถูกวิธี
– ทบทวนและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อติดตามความก้าวหน้า และเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
5. การใช้ข้อมูลภายใน และการรักษาข้อมูลอันเป็นความลับ
5.1 เก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญทางธุรกิจ ตลอดจนข้อมูลความลับเกี่ยวกับ บริษัทและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของบริษัท ไว้อย่างเข้มงวดที่สุดและอยู่ในวงจำกัด โดยไม่เปิดเผยต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องทั้งภายใน และภายนอกบริษัท แม้ว่าจะเกษียณอายุ ลาออก หรือสิ้นสุดการทำ งานกับบริษัท แล้วก็ตาม เว้นแต่เป็นไปตามข้อบังคับ โดยกฎหมาย หรือมติของคณะกรรมการ บริษัท
5.2 บุคลากรของบริษัทต้องไม่นำ ข้อมูลภายในของบริษัทซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชนไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ แก่ตนเองและผู้อื่นในทางมิชอบ
5.3 ข้อมูลภายในด้านการบริหารจัดการ อันเป็นข้อมูลที่มีผลต่อมูลค่าหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ผลการดำเนินงาน การเพิ่มทุน การออกหุ้น บุคลากรของบริษัท ต้องรักษาข้อมูลภายในไว้เป็นความลับ ตามแนวปฏิบัติเรื่องการใช้ข้อมูลภายในตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท
5.4 การเปิดเผยข้อมูลต้องเป็นโดยผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเปิดเผยเท่านั้น เมื่อถูกถามข้อมูลที่ตนไม่มีหน้าที่เปิดเผย ให้แนะนำผู้ถามสอบถามกับบุคคลผู้มีหน้าที่ให้ข้อมูลนั้น เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
5.5 เพื่อป้องกันไม่ใช้ข้อมูลอันเป็นความลับถูกเปิดเผย ถือเป็นหน้าที่ของเจ้าของข้อมูล หรือผู้ดูแลข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผย จะต้องทราบถึงขั้นตอน วิธีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและปฏิบัติตาม
5.6 บุคคลภายนอกซึ่งมีโอกาสเข้ามา เกี่ยวข้องหรือมีโอกาสได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในที่สำคัญของบริษัทต้องมีข้อตกลงการรักษาความลับข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่า บุคคลเหล่านั้นจะใช้ความระมัดระวังรักษา ความลับและข้อมูลภายในทำนองเดียวกับ บุคลากรของบริษัท
6. ทรัพย์สินทางปัญญา การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
6.1 ส่งเสริมบุคลากรของบริษัทให้ ตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพ สิทธิในทรัพย์สิน ทางปัญญา ทั้งในด้าน ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานโดยตรงและ การดำเนินชีวิตประจำวัน การนำผลงานหรือข้อมูลมาใช้ ในการปฏิบัติงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้อง ตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่เป็นการละเมิด ทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
6.2 บริษัทส่งเสริมให้บุคลากร เขียน และตีพิมพ์ผลงานการเขียนหนังสือตำรา ลงในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงการสร้างสรรค์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์และการนำเสนอโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูล แสดงความคิดเห็น และเพื่อใช้ในการศึกษา โดยผลตอบแทนจากงานและลิขสิทธิ์ เหล่านั้นย่อมเป็นของบุคลากรนั้นเอง แต่งานใดเป็นงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทให้จัดทำขึ้น เป็นงานที่ใช้ข้อมูลของบริษัท หรือเป็นงานที่เรียนรู้จากบริษัท ให้ถือว่าบริษัท เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และผลตอบแทนที่ได้จากงานเช่นว่านั้น
6.3 การใช้งานระบบสารสนเทศของ บริษัทต้องเป็นไปเพื่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเท่านั้น ซึ่งระบบสารสนเทศถือเป็น ทรัพย์สินของบริษัท ผู้ใช้มิอาจคาดหวัง ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ได้และต้อง หลีกเลี่ยงการใช้ระบบสารสนเทศที่ ไม่เกี่ยวข้องกับงานของบริษัท
6.4 บริษัทได้จัดให้มีการบริหารความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ซึ่งหมายถึงระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรฐานสากล ดังนั้น พนักงานทุกคน จึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกัน และดูแลให้ระบบสารสนเทศของกลุ่มบริษัท ทีอยู่ในความครอบครอง หรือหน้าที่รับผิดชอบของตน ไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าถึง และไม่เปิดเผยสารสนเทศที่มีความสำคัญทางธุรกิจต่อผู้ไม่เกี่ยวข้อง
6.5 ไม่ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตในทาง ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบ คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของบริษัท และไม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมในทางศีลธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี หรือละเมิดกฎหมาย เช่น การสร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงและทรัพย์สิน การมีไว้ซึ่งสื่อลามกอนาจาร การส่งต่อ mail ที่เป็นการรบกวน สร้างความรำคาฐ หรือ ที่เป็นการโฆษณาสินค้า ธุรกิจและบริการ นอกเหนือจากสินค้าและบริการของบริษัท และการส่ง spam mail เป็นต้น
6.6 ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มี ลิขสิทธิ์ถูกต้อง และติดต่อฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ หากจำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรม คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมเพื่อการปฏิบัติงาน
6.7 เก็บรักษารหัสผ่านสำหรับเข้าระบบคอมพิวเตอร์ และโปรแกรม คอมพิวเตอร์ต่างๆ ของบริษัทเป็นความลับ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าถึงสารสนเทศของบริษัท
7. การให้และการรับของขวัญ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
การรับและการให้ของขวัญ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด อาทิ การเลี้ยงรับรอง การเข้าร่วมกิจกรรม การเดินทางทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องจากการเดินทางที่ได้รับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท ให้สามารถกระทำได้ในวิสัยอันสมควร ในเทศกาล ประเพณีนิยม บริษัทจึงกำหนดแนวทางการให้และรับของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่อาจนำมาซึ่งความลำบากใจ หรือมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่
7.1 ห้ามมิให้มีการรับหรือให้ ของขวัญ, ของที่ระลึกในรูปแบบเงินสด เช็ค พันธบัตร หุ้น ทองคำ อัญมณี อสังหาริมทรัพย์ หรือสิ่งของทำนองเดียวกันจาก / แก่บุคคลภายนอกทุกกรณี
7.2 ห้ามมิให้มีการ เรียก/รับ หรือให้ประโยชน์หรือทรัพย์สินอันใดแก่บุคคลภายนอก ที่ส่อไปในทางจูงใจให้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในทางมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตน หรืออาจทำให้บริษัทเสียประโยชน์อันชอบธรรม
7.3 บุคลากรของบริษัทควรหลีกเลี่ยงการให้หรือการรับ ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง หรือประโยชน์ใดๆ ที่เกินความจำเป็นและไม่เหมาะสม กับคู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวกับของธุรกิจของบริษัท เว้นแต่ในเทศกาล ตามประเพณีนิยมในมูลค่าที่เหมาะสม หากได้รับของขวัญในรูปของเงินหรือสิ่งของมีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น เพื่อพิจารณาตามความเหมาะสม
7.4 หน่วยงานใดที่ติดต่อกับผู้รับเหมา ผู้รับเหมาช่วง ลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของกลุ่มบริษัท ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงหลักเกณฑ์นี้ด้วย
7.5 ในกรณีที่ได้รับของขวัญ ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด และผู้มีอำนาจพิจารณาแล้วว่าไม่สมควรรับ ให้ส่งคืนแก่ผู้ให้ หากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ส่งมอบแก่หน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อจัดให้เป็นสิทธิของบริษัท
8. ความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
8.1 บริษัทจัดทำข้อกำหนดและมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ที่มีมาตรการไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งกำหนดให้บุคลากรต้องศึกษา และปฏิบัติตามกฏหมาย นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยอย่างเคร่งครัด
8.2 บริษัทจะดำเนินการควบคุมและป้องกันความสูญเสียในรูปแบบต่างๆ อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ อัคคีภัย การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยต่อบุคลากรของบริษัท และมีการซักซ้อมแผนการรักษาความปลอดภัยเป็นประจำ
8.3 จัดให้มีการประชาสัมพันธ์และสื่อความ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลให้กับบุคลากรของบริษัท ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ทราบและเข้าใจนโยบาย กฎระเบียบ ขั้นตอน
8.4 จัดให้มีการเตรียมความพร้อมต่อเหตุวิกฤตต่างๆ ที่อาจทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก หรือก่อให้เกิดความเสี่ยมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท
8.5 จัดตั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ประเมินและเฝ้าระวังสถานะด้านความมั่นคงปลอดภัยตามระดับการเตือนภัยอย่างสม่ำเสมอ
8.6 พัฒนาระบบการบริหารความมั่นคงปลอดภัยให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากลและให้มีการตรวจประเมินและทบทวนอย่างสม่ำเสมอ
9. การควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน
9.1 จัดให้มีระบบการควบคุมภายใน ที่เหมาะสมและเพียงพอ เพื่อให้มั่นใจ ว่าบริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของรายงานทางการเงิน และการ ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่ เกี่ยวข้อง
9.2 จัดให้มีการตรวจสอบภายใน เพื่อเป็นกลไกในการวัดระดับความ เหมาะสมและเพียงพอของระบบการ ควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง
9.3 กำกับดูแลให้มีหน่วยงานอิสระ ที่รับผิดชอบโดยตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่ตรวจสอบภายใน มีบุคลากรที่เพียงพอ มีความรู้ความสามารถ และยึดมั่นในจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบภายใน
9.4 บุคลากรของบริษัท มีหน้าที่สนับสนุนการทำงาน และให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงต่อหน่วยงานตรวจสอบภายใน และผู้สอบบัญชีภายนอก
10. สิทธิทางการเมือง
บริษัทเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือนักการเมืองคนใด ทั้งนี้บริษัทสนับสนุนให้บุคลากรของบริษัทยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และใช้สิทธิทางการเมืองของตนตามครรลองของกฎหมาย
10.1 ต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่นำทรัพยากรของบริษัทไปสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
10.2 สนับสนุนให้บุคลากรของบริษัทใช้สิทธิของตนเองในฐานะพลเมืองดีตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
10.3 ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ และไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่า บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องหรือให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง อันอาจนำไปสู่ความไม่สามัคคีปรองดองภายในบริษัทและประเทศชาติ