“ทาทา สตีล” มุ่งมั่นผลิตสินค้าตามมาตรฐาน มอก.ปรับปรุงใหม่ เผยวิธีการเลือกเหล็กมาตรฐานท่ามกลางสภาวะเหล็กล้นตลาด แนะผู้บริโภคพิจารณาความปลอดภัยของโครงสร้างมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมุ่งเน้นไปที่การควบคุมคุณภาพของเหล็กเส้นก่อสร้างอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นค่าเคมี ซึ่งมีผลต่อความสม่ำเสมอของเหล็กเส้นในการรับน้ำหนักสิ่งก่อสร้าง การระบุชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อการสอบกลับได้ของผลิตภัณฑ์ การระบุประเภทของกระบวนการผลิตเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้
นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดและการขาย บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของเหล็กเส้นก่อสร้างอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรฐานระดับโลก เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคต้องมาก่อน และเพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เกิดการเติบโตและพัฒนาตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของภาครัฐ ด้วยการลงทุนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจสอบคุณภาพที่ทันสมัย ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพโดยการควบคุมการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดแยกเศษเหล็กที่มีคุณภาพ การเก็บตัวอย่างเพื่อทดสอบค่าเคมี การตรวจสภาพเหล็กแท่ง การควบคุมขนาดและน้ำหนัก การตรวจสอบคุณสมบัติทางกลของสินค้า เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าเหล็กเส้นก่อสร้างทุกเส้นที่ผลิตมีคุณภาพเหมาะต่อการใช้งาน และมีส่วนสำคัญในการทำให้โครงสร้างอาคารแข็งแรง ปลอดภัย เพราะเหล็กเส้นจะอยู่คู่กับโครงสร้างอาคารไปตลอดอายุของอาคารนั้นๆ ซึ่งส่งผลระยะยาวต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย รวมถึงเหล็กเส้นคุณภาพดี จะทำให้งานก่อสร้างเสร็จไว ไม่ต้องมีการรื้อ หรือแก้งานในภายหลัง เพื่อให้ทุกโครงการก่อสร้างที่เลือกใช้เหล็กคุณภาพดีอย่างทาทา ทิสคอน มีความปลอดภัยสูงขึ้น
นอกจากนั้น ท่ามกลางภาวะเหล็กเส้นล้นตลาด ซึ่งอาจมีเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มอก. ปะปนอยู่ในตลาด ในฐานะผู้นำการผลิตและจำหน่ายเหล็กเส้นก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จึงตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกใช้เหล็กของผู้บริโภคให้ได้เหล็กเส้นก่อสร้างที่ได้คุณภาพ เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้สร้างบ้าน รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐ และภาคเอกชน โดยจุดสังเกตเหล็กที่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มอก. สามารถพิจารณาได้จาก 5 จุดสังเกต ต่อไปนี้
1. ตัวนูนบนเนื้อเหล็ก จะต้องแสดงข้อมูลที่จำเป็นดังต่อไปนี้ บนเนื้อเหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อยทุกเส้น ได้แก่ เครื่องหมายการค้า โรงงานผู้ผลิต ประเภทของสินค้า ชั้นคุณภาพ ขนาด และที่สำคัญต้องบ่งบอกถึงกระบวนการผลิตด้วย เช่น EF ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตเหล็กของบริษัทด้วยเตาหลอมไฟฟ้าที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ และรักษาสิ่งแวดล้อม
2. ผิวเหล็ก เหล็กเส้นกลม ต้องมีผิวเรียบเกลี้ยง ไม่มีปีก ไม่มีลูกคลื่น หน้าตัดต้องกลม ไม่เบี้ยว ผิวไม่มีรอยปริแตก ขณะที่เหล็กเส้นข้ออ้อย ต้องมีระยะห่างของบั้งเท่ากันและสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น ผิวไม่มีรอยปริแตกร้าว
3. ขนาดและน้ำหนัก เหล็กที่ดีต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง และน้ำหนักถูกต้องตามที่ มอก. ระบุ
4. ดัดโค้งได้โดยไม่ปริแตก เหล็กเส้นก่อสร้างมักจะถูกนำไปดัดเพื่อให้เข้ากับรูปทรงของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเหล็กเส้นที่ดีเมื่อทำการดัดโค้งตามมาตรฐานแล้ว จะต้องไม่ปริแตก และหักง่าย
5. ไม่เป็นสนิม เหล็กเส้นที่ดีต้องไม่เป็นสนิมขุม เพราะสนิมขุมจะกินเข้าไปในเนื้อเหล็ก ทำให้ความแข็งแรงของเหล็กลดลง ขณะที่สนิมผิวสามารถเกิดบนผิวเหล็กได้ ไม่เป็นอันตรายต่อการใช้งาน และกำลังรับแรงดึงของเหล็กเส้น วิธีสังเกตสนิมผิว ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษทรายขัดตรงที่เป็นสนิม ถ้าสนิมสามารถหลุดออกง่ายไม่มีรอยสนิมฝังลึกในเนื้อเหล็ก แสดงว่าเป็นสนิมผิวสามารถใช้งานได้ แต่ถ้าขัดแล้วพบสนิมฝังลึกในเนื้อเหล็ก หรือสนิมขัดไม่ออก แสดงว่าเป็นสนิมขุม ไม่ควรนำมาใช้งาน
สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริโภคควรคำนึงถึงก็คือ เหล็กเส้นที่มีกระบวนการผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อการใช้งานสิ่งก่อสร้างที่ปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งนอกจากการผลิตและควบคุมคุณภาพสินค้าของบริษัทฯ ให้เป็นไปตาม มอก. ฉบับใหม่แล้ว บริษัทฯ ยังได้ยกระดับในเชิงคุณภาพให้เหนือกว่าขึ้นไปอีก เช่น การคิดค้นและพัฒนาเหล็กเส้นก่อสร้างให้มีความเหนียวสูง สามารถดัดโค้งได้ง่ายโดยไม่แตกร้าว การพัฒนาครีบ-บั้งของเหล็กเส้นข้ออ้อยให้ยึดเกาะกับปูนได้ดีขึ้นด้วยการคำนวณค่าพื้นที่ในการยึดเกาะปูน ซึ่งไม่มีกำหนดไว้ในมาตรฐานไทย แต่มีระบุไว้ในมาตรฐานต่างประเทศ มีการผลิตเหล็กที่มีสิ่งเจือปนต่ำเพื่อความแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้งานเหล็กเส้นก่อสร้าง ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทางบริษัทฯ ได้ทำการคิดค้นและพัฒนา เพื่อยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น มีมูลค่ามากขึ้น เพื่อให้อุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยมีการเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และมีมูลค่าสูงทัดเทียมกับนานาประเทศ
ขอขอบคุณ : MGR Online